สวัสดีค่ะ วันนี้ทาง OOKBEE ทราบมาว่า มีข้อคำถามเขาเล่าว่า…. เขาสงสัยว่า…. เขาอยากรู้ว่า…. มากมาย เกี่ยวกับการสอบ IELTS
OOKBEE เลยจะมาหาคำตอบต่างๆ เหล่านั้นจาก อ.ฟิวส์ หนึ่งในติวเตอร์ ของสถาบัน Chulatutor (https://www.chulatutor.com/en/ielts/ )
ซึ่งเป็นสถาบันเตรียมความพร้อมสำหรับหลักสูตนานาชาติให้กับทุกคนค่ะ เราไปไขปริศนาที่ว่ากันเลยค่ะ
คำถามที่ 1 : เขาอยากรู้ว่า ข้อสอบ IELTS นี่มีกี่แบบกันคะ แล้วจะไปเรียนต่อต่างประเทศต้องสอบแบบไหนกันละเนี่ย?
อ.ฟิวส์ เราแยก IELTS ออกเป็น 3 ประเภท หลักๆ ก่อนนะคะ นั่นคือ IELTS Regular, IELTS UKVI และ IELTS Life Skills เรามาเริ่มจาก
1. IELTS Regular ก่อนนะคะ ซึ่งเป็น IELTS ที่เราพูดถึงกันในปัจจุบันอย่างแพร่หลายค่ะ สามารถแยกออกได้เป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
- IELTS ACADEMIC ที่สอบเพื่อเรียนต่อ ใครที่จะเรียนต่อในระดับตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไป
จะต้องสอบ IELTS ACADEMIC เพื่อใช้แสดงความพร้อมด้านภาษาอังกฤษสำหรับการเรียนต่อในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร
- IELTS General Training ที่สอบเพื่อการฝึกอบรม หรือใช้สมัครเพื่อเรียนต่อในระดับที่ต่ำกว่าปริญญาตรี
เช่น ระดับมัธยมศึกษา หรือใครที่ต้องการย้ายถิ่นฐาน หรือไปทำงานในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร
ก็จะใช้การสอบ IELTS General Training ค่ะ ซึ่งข้อสอบจะไม่ซับซ้อนเท่ากับ IELTS Academic
โดยจะสอบ Listening และ Speaking เหมือนกันกับ IELTS Academic แต่จะสอบ Reading และ Writing ต่างกัน
ทั้ง 2 แบบ คะแนนเต็ม 9.0
2. IELTS UKVI จะเป็นการสอบ IELTS ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ขอวีซ่าเข้าสหราชอาณาจักร
เนื่องจาก IELTS เป็นข้อสอบที่ได้รับการอนุมัติจากกองวีซ่าและการตรวจคนเข้าเมือง
โดยจะต้องสอบ IELTS กับศูนย์ที่ผ่านการรับรองจากกองวีซ่าและการตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักร (UKVI)
ค่าใช้จ่ายในการสอบจะสูงขึ้น เนื่องจากมีมาตรการการคุมสอบที่แตกต่างจาก IELTS Regular แต่ว่าข้อสอบจะเหมือนกันค่ะ
หลักๆ แล้วการสอบ IELTS UKVI เป็นการสอบที่เน้นวัตถุประสงค์ในเรื่องการยื่นขอวีซ่าค่ะ หากน้องๆ มีคะแนน IELTS
ที่ถึงเกณฑ์ที่ทางสถาบันในสหราชอาณาจักรกำหนด ก็สามารถใช้ IELTS Regular ได้เลย แต่หากคะแนนสอบยังไม่ถึงเกณฑ์
แต่จำเป็นต้องขอวีซ่าเพื่อไปเรียน Pre-course น้องๆ อาจต้องคะแนนจากการสอบ IELTS UKVI ยื่นได้เลยค่ะ
หรือน้องๆ อาจจะเลือกวิธีการสอบ IELTS Regular เพื่อให้ถึงเกณฑ์ในการยื่นวีซ่าก็ได้ค่ะ หากมีเวลาในการเตรียมตัว เตรียมเอกสารต่างๆ
ทั้งนี้ ความยากง่ายของข้อสอบเหมือนกันกับ IELTS Regular ค่ะ และผลสอบก็มีอายุ 2 ปีนับตั้งแต่วันสอบเหมือนกันค่ะ
3. IELTS Life Skills ที่เป็นการสอบแบบใหม่จะเน้นการสอบพูดและฟังเท่านั้น
ตามชื่อเลยค่ะ Life skills คือเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นการสอบ IELTS ที่ง่ายที่สุดค่ะ
คำถามที่ 2 : เขาสงสัยว่า IELTS มีสอบผ่าน สอบตก มั้ยคะ ?
อ.ฟิวส์ ไม่มีค่ะ IELTS ไม่ได้มีสอบผ่าน สอบตก เพราะคะแนน IELTS จะมีเป็นช่วงตั้งแต่ 1.0-9.0
ซึ่งก็จะบ่งบอกถึงความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของเรา คำว่าผ่าน หรือไม่ผ่าน
อาจจะเป็นการวัดจากการยื่นคะแนนเพื่อสมัครเรียนต่อค่ะ ถ้าคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ที่ทางสถาบันต่างๆ กำหนดไว้
ก็จะไม่ได้รับการพิจารณารับสมัครค่ะ ฉะนั้น เราจะต้องสอบให้ได้คะแนนเท่าไหร่
ก็ต้องพิจารณาจากเกณฑ์ที่สถาบันแต่ละแห่งกำหนดไว้ด้วยค่ะ
คำถามที่ 3 : เขาสงสัยว่า เกณฑ์การให้คะแนน IELTS Regular เป็นอย่างไร ?
อ.ฟิวส์ IELTS Regular แบ่งการทดสอบออกเป็น 4 ส่วน คือ Listening, Reading, Writing, และ Speaking
โดยแต่ละส่วนจะมีคะแนนเต็ม 9 และนำมาเฉลี่ยรวมเป็นคะแนน IELTS ทั้งหมดค่ะ ฉะนั้น ไม่ต้องแปลกใจค่ะ
ว่าทำไมบางคนมี .5 มาต่อท้ายคะแนนด้วย เพราะว่าช่วงคะแนนของ IELTS ขยับขึ้นทีละ .5 นั่นเองค่ะ
คะแนนจะแบ่งเป็น 9 ระดับ ตั้งแต่ระดับ 1.0 – 9.0 โดยที่ ระดับ 9 หมายถึง
คนๆนั้นมีความสามารถในการใช้ภาษาได้ดีเลิศ ดีเยี่ยม คล่องแคล่ว เหมาะสม
ถูกต้องแม่นยำ และค่อยๆ ไล่เรียงความสามารถลงไปจนถึงระดับ 1 หมายถึง
คนๆ นั้นไม่สามารถใช้ภาษาได้เลย อาจรู้ศัพท์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
คำถามที่ 4 : เขาอยากรู้ว่า IELTS ใช้เวลาสอบนานเท่าไหร่ ?
อ.ฟิวส์ การสอบ IELTS ทั้ง 4 ส่วน จะใช้เวลาเกือบค่อนวันค่ะ
โดยช่วงเช้า จะเป็นการสอบ Listening, Reading, Writing
และช่วงบ่ายจะเป็นการสอบ Speaking
ซึ่งต้องแล้วแต่ว่าผู้เข้าสอบได้คิวสอบตอนช่วงไหนค่ะ
--- เวลาในการสอบช่วงเช้า จะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงค่ะ
แบ่งเป็น Listening 30 นาที Reading 60 นาที และ Writing 60 นาทีค่ะ
--- เวลาในการสอบ Speaking ช่วงบ่าย หากไม่นับช่วงเวลาการรอเรียกสอบแล้วนั้น
ช่วงเวลาการสอบ Speaking จริงๆ ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีเท่านั้นเองค่ะ
คำถามที่ 5 : เขาอยากรู้ว่า IELTS สมัครสอบได้ที่ไหนบ้าง ?
อ.ฟิวส์ สำหรับศูนย์สอบของ British Council สามารถสมัครสอบได้ ดังนี้
กรุงเทพมหานคร : ที่ British Council สาขาสยามสแควร์ ปิ่นเกล้า และลาดพร้าว
หรือผ่านตัวแทนรับสมัครตามสถาบันกวดวิชาต่างๆ
เชียงใหม่ : ลงทะเบียนผ่านออนไลน์ ผ่านทาง website British Council
ภูเก็ต : สมัครและสอบถามผ่าน AVSS ภูเก็ต
พิษณุโลก : ลงทะเบียนผ่านออนไลน์ ผ่านทาง website British Council
โคราช : ลงทะเบียนผ่านออนไลน์ ผ่านทาง website British Council
ขอนแก่น : ลงทะเบียนผ่านออนไลน์ ผ่านทาง website British Council หรือสมัครได้ที่ http://planstudyagency.com
หาดใหญ่ : ลงทะเบียนผ่านออนไลน์ ผ่านทาง website British Council
ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.britishcouncil.or.th/exam/ielts/dates-fees-locations
สำหรับศูนย์สอบของ IDP ทั้ง 4 ศูนย์ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ และโคราช สามารถสมัครสอบได้ ดังนี้
ผ่าน Counter Service ของธนาคาไทยพาณิชย์ ใช้ Pay-in slip
และเลือกวันและสถานที่สอบตามที่ต้องการ (ดาวน์โหลดได้จาก Website idp)
ชำระผ่านเครื่อง ATM ธนาคารไทยพาณิชย์
เลือกวันและสถานที่สอบผ่านขั้นตอนการชำระเงิน
เมื่อชำระเงินเสร็จแล้ว ให้ Fax ใบ Pay-in slip หรือ ATM Slip ไปที่ IDP ค่ะ
ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.ielts.idp.co.th/how_to_make_payment_th.aspx
คำถามที่ 6 : เขาเล่าว่าสอบ IELTS กับ IDP จะได้คะแนนดีกว่าสอบ IELTS กับ British Council จริงหรือ ?
อ.ฟิวส์ ไม่จริงเลยจ้ะ ข้อสอบ IELTS เป็นข้อสอบที่มีมาตรฐาน มีองค์กรนานาชาติ 3 แห่งเป็นเจ้าของร่วมกัน
โดยมี Cambridge Assessment เป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบด้านงานวิจัยและการพัฒนาการสอบ
และส่งข้อสอบไปยังศูนย์สอบ IELTS ต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงคอยควบคุมคุณภาพของการจัดสอบ IELTS ด้วยค่ะ
ดังนั้น ผู้สอบทุกคนมั่นใจได้เลยค่ะ ว่าข้อสอบ IELTS รวมถึงมาตรฐานการสอบ การให้คะแนนนั้นจะเหมือนกัน
ไม่ว่าคุณจะเลือกสอบกับที่ใดค่ะ ที่เขาเล่ากันมาว่าสอบที่ IDP ง่ายกว่าที่ British Council ก็ไม่จริงจ้า
คำถามที่ 7 : เขาเล่าว่าสอบ IELTS ที่อื่นง่ายกว่าสอบที่ไทย จริงหรือ ?
อ.ฟิวส์ สืบเนื่องจากข้อ 6 จ้ะ ที่ว่า ข้อสอบ IELTS เป็นข้อสอบที่มีมาตรฐาน มี Cambridge Assessment
ดำเนินการรับผิดชอบด้านการสอบ การควบคุมคุณภาพของข้อสอบและการจัดสอบของศูนย์สอบแต่ละแห่งทั่วโลก
การสอบแต่ละที่ ไม่ว่าจะประเทศใด จึงมั่นใจได้เลยว่า ข้อสอบจะมีมาตรฐานเดียวกัน แต่ความรู้สึกการไปสอบ
และสภาพแวดล้อม อาจจะเป็นตัวแปรที่ทำให้หลายคนที่เล่าๆ กันมา ที่มีผลทำให้รู้สึกว่าสอบที่ต่างประเทศง่ายกว่า
ยกตัวอย่าง ถ้าไปสอบ IELTS ที่ประเทศอังกฤษ ทุกสิ่งทุกอย่าง สภาพแวดล้อมเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด
ก็อาจทำให้เรารู้สึกร่วมไปกับสภาพแวดล้อมเหล่านั้น ทำให้เราพลอยทำคะแนนได้ดีไปด้วย ก็อาจเป็นได้ค่ะ
ดังนั้น ที่เขาเล่าว่า สอบที่อื่นง่ายกว่าที่ไทย ไม่จริงเลยค่ะ
คำถามที่ 8 : เขาเล่าว่าสอบ IELTS ง่ายกว่าสอบ TOEFL จริงหรือ ?
อ.ฟิวส์ ต้องตอบแบบนี้ค่ะ ว่า ข้อสอบทั้ง 2 แบบ ต่างเป็นข้อสอบที่ใช้วัดผลความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ
เชิงวิชาการ โดยจะวัดความสามารถด้านภาษาอังกฤษครบทั้ง 4 ด้าน ทั้ง การฟัง การอ่าน การเขียน และการพูด
ข้อสอบทั้ง 2 แบบ มีเกณฑ์คะแนนที่ต่างกัน และมีวิธีการวัดผลที่ต่างกัน อีกทั้งรูปแบบการสอบก็ยังต่างกันอีก
IELTS มีทั้งแบบออนไลน์และกระดาษ ในขณะที่ TOEFL มีแต่แบบออนไลน์ ดังนั้น ความยากง่ายจึงไม่สามารถเทียบกันได้
ด้วยตัวแปรที่ต่างกันค่ะ แต่ถ้าเราไม่ได้เตรียมตัวไปสอบ ไม่ว่าข้อสอบอะไรก็ยากทั้งนั้นนะจ๊ะ อิอิ
คำถามที่ 9 : เขาสงสัยว่า จำเป็นหรือไม่ถ้าจะยื่นสมัครเรียนที่ UK ต้องสอบ IELTS
ที่ British Council และถ้าจะยื่นสมัครเรียนที่ Australia ต้องสอบ IELTS ที่ IDP ?
อ.ฟิวส์ ไม่จริงเลยจ้ะ ความจริงก็คือ ไม่ว่าคุณจะสอบกับ British Council หรือ IDP ผลคะแนน IELTS
ก็สามารถใช้ยื่นสมัครได้ทุกที่ค่ะ เพราะคะแนนสอบ IELTS นั้นเป็นมาตรฐานเดียวกันค่ะ
คำถามที่ 10 : เขาอยากรู้ว่า IELTS ใช้ยื่นสมัครเรียนต่อในสถานศึกษาที่ประเทศใดได้บ้าง ?
อ.ฟิวส์ นอกจากประเทศอังกฤษและประเทศออสเตรเลีย รวมถึงประเทศไทยแล้ว คะแนน IELTS
ยังเป็นที่ยอมรับในการใช้สมัครเข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกอีกกว่า 140 ประเทศ
เช่น นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อินเดีย สวีเดน สิงคโปร์ เป็นต้นค่ะ ด้วยความที่ข้อสอบเป็นข้อสอบที่มีมาตรฐาน
และได้รับการยอมรับจากทั่วโลกหลายๆ ประเทศจึงใช้ผลคะแนนนี่เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครเพื่อเข้าศึกษาต่อค่ะ
คำถามที่ 11 : เขาเล่าว่า ตอบ speaking สำเนียง British จะได้คะแนนดีกว่า ?
อ.ฟิวส์ ไม่จริงเลยจ้ะ คะแนนของ speaking จะมากหรือน้อยไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราพูดตอบด้วยสำเนียงอะไร
แต่ขึ้นอยู่กับความคล่องแคล่ว ความเชื่อมโยงของความคิด การออกเสียงคำศัพท์และประโยคที่ถูกต้อง
ความถูกต้องของคำศัพท์ และไวยากรณ์ของประโยคในการโต้ตอบต่างๆ ที่สำคัญอีกเรื่องคือ การตอบตรงคำถามค่ะ
ดังนั้น ไม่ว่าเราจะพูดตอบด้วยสำเนียงแบบไทยๆ หรือจะแบบฝรั่ง หากเรามั่นใจ ตอบได้ถูกต้อง
คล่องแคล่ว จะสำเนียงไหนๆ ก็ได้คะแนนเหมือนกันค่ะ
คำถามที่ 12 : เขาสงสัยว่า ในการสอบ speaking เราขอให้ examiner ทวนคำถามได้หรือไม่ ?
อ.ฟิวส์ ได้สิจ๊ะ ทำไมจะไม่ได้ล่ะ อย่าลังเลที่จะขอให้ examiner ทวนประโยคคำถามให้เรา หากเราได้ยินไม่ชัด
ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของตัวผู้สอบเองในการคิดคำตอบมาตอบให้ถูกต้องค่ะ จริงอยู่ว่าการขอให้ทวนคำถาม
อาจดูเหมือนเราฟังไม่ดีเอง หรือไม่ตั้งใจฟังแต่แรก แต่ก็ย่อมดีกว่าการเดาคำถามเอง แล้วตอบไปแบบผิดๆ
ไม่ตรงประเด็นจะทำให้เสียคะแนนมากกว่า อย่างไรก็ตาม เราแนะนำว่า ไม่ควรขอให้ทวนคำถามบ่อยมากเกินไป
หรือทวนทุกประโยคที่ถาม เพราะนั่นแสดงถึงความสามารถของทักษะภาษาอังกฤษเราไม่ค่อยแข็งแรงแล้วค่ะ
คำถามที่ 13 : เขาอยากรู้ว่า ข้อสอบ listening เราสามารถจดโน้ตลงในกระดาษคำถามได้หรือไม่ ?
อ.ฟิวส์ แน่นอนค่ะว่า “ได้” เราสามารถจดโน้ต จดย่อๆ สิ่งที่เราได้ยินลงในกระดาษคำถามได้ เพื่อกันลืม
และเป็นการช่วยจำ เพราะเมื่อเทปพูดจบจะมีเวลาใหเราเรียบเรียงคำตอบ และเขียนลงในกระดาษคำตอบค่ะ
ดังนั้น การจดโน้ต ก็เป็นการช่วยเราในเรื่องความจำ กันลืมอีกทาง และยังเป็นการช่วยทวนคำตอบด้วยค่ะ
คำถามที่ 14 : เขาสงสัยว่า เราต้องเตรียมเครื่องเขียนไปเองหรือไม่ ?
อ.ฟิวส์ เราไม่ต้องเตรียมเครื่องเขียนใดใดไปเลยค่ะ ทางศูนย์สอบจะมีวางให้ในห้องสอบอย่างเรียบร้อย
สิ่งที่เราต้องเตรียมไปเอง มีแค่ บัตรสอบ และบัตรประชาชนหรือพาสพอร์ตที่ยังไม่หมดอายุ
และเป็นอันเดียวกันกับที่ใช้สมัครด้วยค่ะ ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ที่สามารถเตรียมไปเผื่อก็คือ เสื้อกันหนาว สำหรับคนขี้หนาวค่ะ
เพราะว่าสถานที่สอบบางแห่งก็เปิดแอร์เย็น อาจทำให้เสียสมาธิได้ค่ะ
คำถามที่ 15 : เขาสงสัยว่า ถ้าเขียนยาวเกินไปจะถูกหักคะแนนหรือไม่ ?
อ.ฟิวส์ ไม่โดนหักจ้ะ การเขียนที่ดี ควรเขียนให้ได้ใจความ มีองค์ประกอบครบถ้วน หากจะเขียนเกินคำที่กำหนด
ก็ไม่ควรเกินไปมากค่ะ เยอะมากไปก็เสียเวลาคนตรวจ หรืออาจจะเป็นข้อมูลที่เวิ่นเว้อ ไม่จำเป็น ควรเขียนให้กระชับ
ให้พอดีๆ เกินได้แต่พองามค่ะ ถ้าจะให้ดีควรมีเค้าโครงคร่าวๆ ก่อนที่เราจะเริ่มเขียนจริง เพื่อประเมินเนื้อหา
และความยาวของสิ่งที่เราจะเขียนค่ะ แต่เอาเป็นว่าไม่ต้องกังวลว่าถ้าเขียนเกินแล้วจะโดนหักคะแนนแล้วกันจ้ะ
แถมการเขียนยาวไปอาจทำให้เราเสียเวลาในการเขียนข้ออื่นก็ได้นะจ๊ะ
คำถามที่ 16 : เขาอยากรู้ว่า ใช้ผลคะแนนออนไลน์ยื่นสมัครเรียนได้หรือไม่ ?
อ.ฟิวส์ ไม่ได้ค่ะ สถาบันการศึกษาจะยอมรับผลคะแนนสอบตัวจริงเป็นหลักฐานในการยื่นสมัครเรียนเท่านั้น
ทาง IDP และ British Council เองก็ยืนยันว่าผลคะแนนสอบทางออนไลน์เป็นผลคะแนนชั่วคราว
ไม่สามารถใช้อย่างเป็นทางการได้ค่ะ
คำถามที่ 17 : เขาอยากรู้ว่า สามารถตรวจผลคะแนนได้ทางไหนบ้าง ?
อ.ฟิวส์ ไม่ว่าเราจะสอบกับ IDP หรือ British Council เราสามารถตรวจสอบผลคะแนนออนไลน์
ได้หลังจากวันสอบ 13 วัน หรือสามารถเข้ามารับผลสอบได้ด้วยตัวเองที่ศูนย์สมัครหลังจากวันสอบ 13 วัน
เวลา 13.00 น. และใครที่เลือกรับผลสอบ ทางไปรษณีย์จะได้รับผลสอบทางไปรษณีย์ 1 ชุดตามที่อยู่ที่เราแจ้งไว้
ภายใน 5-7 วันหลังจากที่ผลสอบออก และทั้ง 2 สถาบัน ไม่แจ้งผลสอบหรือข้อมูลใดใด ทางโทรศัพท์ โทรสาร หรือทางอีเมล์เด็ดขาดค่ะ
คำถามที่ 18 : เขาสงสัยว่า ทำไมคะแนนได้น้อยจังเลย ทั้งๆ ที่ มั่นใจว่าทำได้ ขอให้ตรวจใหม่ได้หรือไม่ ?
อ.ฟิวส์ ทางศูนย์สอบมีบริการตรวจคะแนนใหม่ค่ะ แต่จะมีค่าใช้จ่ายในการขอให้ตรวจคะแนนใหม่
เราเรียกว่า Result service โดยต้องแจ้งขอให้ตรวจใหม่ภายใน 6 สัปดาห์โดยนับจากวันสอบค่ะ
การขอตรวจคะแนนใหม่มีค่าใช้จ่าย 4,000 บาท แต่หากคะแนนมีความผิดพลาดจริง
ทางศูนย์สอบจะคืนค่าธรรมเนียมส่วนนี้ให้ค่ะ แต่ว่าการขอให้ตรวจผลสอบใหม่จะใช้ระยะเวลา
ประมาณ 8 สัปดาห์นะคะ ควรตรวจสอบเวลาที่จะต้องใช้ผลคะแนนให้ดีด้วยค่ะ ป้องกันความเสี่ยง
คำถามที่ 19 : เขาอยากรู้ว่า ราคาการสมัครสอบ IELTS แต่ละแบบเท่ากันหรือไม่ ?
อ.ฟิวส์ ค่าสมัครสอบ IELTS Academic Regular 6,900 บาท
ค่าสมัครสอบ IELTS UKVI 8,800 บาท
ค่าสมัครสอบ IELTS Life Skills 6,600 บาท
และล่าสุด ค่าสมัครสอบ IELTS Academic Regular แบบ Computer 7,500 บาท
คำถามที่ 20 : เขาเล่าว่า มีสอบ IELTS กับ Computer แล้ว ?
อ.ฟิวส์ ใช่แล้วจ้ะ ทาง IDP มีการสอบ IELTS ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ที่จะรู้ผลสอบเร็วขึ้นภายใน 5-7 วัน
โดยจะสอบ Listening, Reading, Writing กับคอมพิวเตอร์ และสอบ Speaking ตัวต่อตัวกับ Examiner ค่ะ
ผลคะแนนสามารถนำไปใช้ได้เหมือน IELTS Academic Regular เลยค่ะ เพียงแต่ค่าสมัครสอบจะแพงกว่าแบบ Regular ค่ะ
และนี่ก็คือ ไขปริศนา 20 คำถาม IELTS กับ Chulatutor ค่ะ
ทาง OOKBEE ก็หวังว่าจะช่วยไขข้อข้องใจให้กับใครหลายคน
ที่กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับการสอบ IELTS อยู่ไม่มากก็น้อยนะคะ
และหากมีข้อมูลใหม่ๆ ดีๆ จากทาง Chulatutor
เพิ่มเติมเมื่อไหร่ เราจะนำมาแชร์กันให้อ่านอีกค่ะ
สำหรับน้องๆคนไหนที่สนใจเรียนวิชาอินเตอร์อื่นๆไม่ว่าจะเป็น TOEIC Grammar GED
IGCSE GMAT writing Essay SAT-II SAT BMAT IB ABAC
สามารถติดต่อได้ที่ จุฬาติวเตอร์ ได้เลยค่ะ
https://www.chulatutor.com หรือโทร 084-942-4261
ข้อมูลจะถูกนำออกทำให้ไม่สามารถอ่านได้อีกน่าเสียดายมากเลย
แน่ใจแล้วหรือที่ต้องการลบข้อมูลออก
หากยืนยันแล้วจะไม่สามารถกู้คืนมาได้อีกนะ!