เฉลยทุกข้อสงสัย "ลิขสิทธิ์ในการ์ตูน" อยู่ได้กี่ปี ?? [ประเด็นโดราเอมอน]
วันที่โพสต์: 16/09/2019

จากประเด็น HOT ที่หลายคนกำลังพูดถึงในตอนนี้เกี่ยวกับเรื่องของ “ลิขสิทธิ์ในตัวการ์ตูนโดราเอมอน” ทีมงาน Ookbee Comics เลยรวบรวมข้อมูล เกี่ยวกับข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ซึ่งก็ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาหลายเรื่อง เลยอยากจะแชร์ให้ทุกคนได้ฟังทีละข้อตามนี้ : )

ตกลงลิขสิทธิ์โดราเอมอนหมดลงหรือยัง?
เรื่องนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า ลิขสิทธิ์ที่พูดถึงในประเด็นนี้มีอยู่หลายตัวด้วยกัน บางคนเห็นคำว่า ลิขสิทธิ์ๆ ก็เหมาเอาว่าเป็นอย่างเดียว แต่ความจริงแล้ว เราต้องแบ่งออกเป็นทีละประเภทก่อน คือ

1.1 ลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรม 

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ (พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537)

“ศิลปกรรม” หมายความว่า งานอันมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
(๑) งานจิตรกรรม ได้แก่ งานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้น แสง สี หรือสิ่งอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ลงบนวัสดุอย่างเดียวหรือหลายอย่าง


http://baiduchan-thaisub.blogspot.com/2015/12/doraemon-movie-2016-news.html

: ข้อนี้แหละที่หมายถึงลิขสิทธิ์ในงานวาดการ์ตูนโดราเอมอน ซึ่งเดี๋ยวจะมาบอกว่าคุ้มครองในระยะเวลาเท่าไร

(๗) งานศิลปประยุกต์ ได้แก่ งานที่นำเอางานตาม (๑) ถึง (๖) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น นอกเหนือจากชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าวนั้น เช่น นำไปใช้สอย นำไปตกแต่งวัสดุหรือสิ่งของอันเป็นเครื่องใช้หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า


: ข้อนี้พูดง่ายๆ ก็หมายถึงการนำตัวการ์ตูนโดราเอมอนไปดีไซน์ลงบนผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้วขายเช่น เอาไปใส่เคสมือถือ เอาไปใส่เป็นลายบนแก้วน้ำ กระเป๋า

ทีนี้เรามาดู “อายุการคุ้มครองของลิขสิทธิ์” แต่ละประเภทที่ว่ามากันในมาตรา ๑๙ ที่ได้บัญญัติเอาไว้ว่า

“ภายใต้บังคับมาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๒ ลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย”

หมายความว่ายังไง? ก็หมายความว่า

โดยหลักแล้วลิขสิทธิ์ในงานต่างๆ จะมีอายุการคุ้มครอง 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย


ในที่นี้ผู้สร้างสรรค์การ์ตูนโดราเอมอนก็คือ อ. ฮิโรชิ ฟุจิโมะโตะ และ โมะโตะโอะ อะบิโกะ ซึ่งจากข้อมูลที่ค้นมาพบว่า อ.ฮิโรชิ ฟุจิโมะโตะ ผู้เสียชีวิตภายหลังในปี 2539 นั่นหมายความว่าลิขสิทธ์ในงาน จิตรกรรมของโดราเอมอนจะหมดลงไปในปี 2589 นั่นเอง ดังนั้นหากนักวาดท่านไหน อยากจะวาดการ์ตูนโดจินโดราเอมอน “แบบถูกกฎหมาย” ก็จะสามารถเริ่มทำได้ในปี 2589

ถามว่า “อ้าว ! แล้วอย่างนี้พ่อค้าแม่ค้าจะสามารถเอาโดราเอมอนมาทำเป็นลายบนสินค้าขายได้หรือเปล่า?”
คำตอบคือ “ถ้าเป็นตามหลักกฎหมายลิขสิทธิ์ สามารถทำได้”


เหตุผลก็เพราะว่า การทำในลักษณะดังกล่าว เป็นเรื่องของ “งานศิลปประยุกต์” ซึ่งมาตรา 22 บัญญัติเอาไว้ว่า

“ลิขสิทธ์ในงานศิลปประยุกต์ให้มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก

เรื่องของเรื่องก็คือ

- การ์ตูนโดราเอม่อนมีการโฆษณาครั้งแรกวันที่ 1 ธันวาคม 2512 ที่ประเทศญี่ปุ่น 
ดังนั้น ปัจจุบันเวลาผ่านมากว่า 48 ปี แล้ว จึงหมดระยะการคุ้มครองในแง่ของงานศิลปประยุกต์
- จึง
“ไม่เป็นความผิด” อีกต่อไป

อ้างอิงคำพิพากษาศาลฏีกาที่   5756/2551

พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรสงคราม     โจทก์
นายครรชิตหรือแม็ก อุดมผล     จำเลย
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 22


โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 31, 61, 70, 75, 76 และให้ผ้าเช็ดหน้า กระเป๋าสตางค์ พัด พัดลม และที่คลุมผมอาบน้ำ ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และสั่งให้จ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า งานตามฟ้องยังเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์อยู่หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานที่นำภาพตัวการ์ตูนโดราเอมอนมาดัดแปลงเป็นงานศิลปะ ใช้ประยุกต์กับวัสดุสิ่งของ เครื่องใช้ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มและนำมาใช้ประโยชน์ทางการค้า ลักษณะงานตามฟ้องจึงเข้าลักษณะเป็นงานศิลปประยุกต์ กล่าวคือ งานที่นำเอางานภาพการ์ตูนไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าวนั้น โดยนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าตามนิยามของคำว่า งานศิลปประยุกต์ ในมาตรา 4 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เมื่อตามเอกสารท้ายฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องระบุไว้ว่า งานของผู้เสียหายมีการโฆษณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2512 ที่ประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น เมื่องานศิลปประยุกต์ตามมาตรา 22 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 บัญญัติไว้ว่าลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์ให้มีอายุ 25 ปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก เมื่องานตามฟ้องมีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2512 งานดังกล่าวซึ่งมีอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ 25 ปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรกจึงมีอายุการคุ้มครองอยู่ถึงเพียงวันที่ 1 ธันวาคม 2537 ขณะเกิดเหตุตามฟ้องคดีนี้ในวันที่ 3 สิงหาคม 2549 งานที่นำภาพตัวการ์ตูนโดราเอมอนมาดัดแปลงเป็นงานศิลปะ ใช้ประยุกต์กับวัสดุสิ่งของ เครื่องใช้เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและนำมาใช้ประโยชน์ทางการค้าตามฟ้องจึงไม่มีลิขสิทธิ์อีก ต่อไป การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจเป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มา นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาข้ออื่นตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปเพราะไม่อาจ เปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีไปได้  อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

( ฐานันท์ วรรณโกวิท - พลรัตน์ ประทุมทาน - ปัญญารัตน์ วิระยะวานิช )
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง - นายธัชพงศ์ วิสุทธิสังวร


แต่อย่าเพิ่งรีบดีใจ !!! อย่าเพิ่งรีบดีใจไปว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ไม่คุ้มครองแล้ว พ่อค้าแม่ค้าทั้งหลายจะสามารถทำอะไรได้ตามใจชอบ เพราะเรื่องของการคุ้มครองแล้วเรายังมีเรื่องของ “เครื่องหมายการค้า” คุ้มครองอยู่ ซึ่งตามกฎหมายระบุเอาไว้ชัดว่า

“เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว เจ้าของเครื่องหมายการค้ามีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว ที่จะใช้เครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าที่จดทะเบียนแล้ว ในกรณีที่มีผู้อื่นละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้า เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้มีสิทธิที่จะฟ้องร้องและเรียกค่าสินไหมทดแทนได้”


https://www.flickr.com/photos/34383623@N03/18095520992

เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งวางใจว่า เห็นตามคำพิพากษาด้านบนแล้วจะสามารถเอาตัวโดราเอมอนไปผลิตสินค้าขายได้ทันที เพราะคดีดังกล่าวอาจเป็นการฟ้องและต่อสู้กันในประเด็นของ “กฎหมายลิขสิทธิ์" แต่ถ้าหากเป็นเรื่องของ "เครื่องหมายการค้า" แล้ว ถ้าไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง ผิดกฎหมายและโดนฟ้องเรียกค่าเสียหายอ่วมเลยนะ”

สรุปคร่าวๆ ประมาณนี้หวังว่าจะเข้าใจและนำไปใช้กันนะ : )

ขอบคุณข้อมูลลจาก

https://pantip.com/topic/36291546
http://www.ipthailand.go.th/th/dip-law-2/item/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C-%E0%B8%9E-%E0%B8%A8-2537-%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2.html

http://www.ipat.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=240:10-2543&catid=44:trade1&Itemid=14

http://aod-lawyer.com/index.php?topic=2715.0;wap2

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9F%E0%B8%B8%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%81%E0%B8%B0_%E0%B8%9F%E0%B8%B8%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%B0

บล็อกที่น่าจะชอบ

23/03/2017
เดี๋ยวนี้ต้องยอมรับเลย ว่าปรับเรดาร์ลำบากจริงๆว่าใครเป็นผู้หญิง ใครเป็นผู้ชาย หนุ่มๆเดี๋ยวนี้สวยจนสตรีต้องชิดซ้าย ผู้ชายด้วยกันก็แยกไม่ออก ให้ความรู้สึกเหมือนโดนดักเลย ภาษาอังกฤษสายอนิเมะเค้าก็เรียกหนุ่มๆที่เหมือนผู้หญิงจนคิดว่าไม่ใช่ผู้ชายว่า “Trap” (กับ
03/12/2015
ขอกล่าวโดยสังเขปก่อนนะครับ อันนี้เป็นเทคนิกการแต่งเนื้อเรื่องโดยส่วนตัวของผม (โดยเฉพาะการ์ตูน comic) ไม่ได้หมายความว่ามันจะต้องถูกต้องหรือดีที่สุด แต่แค่อยากจะแชร์เล็กๆน้อยๆให้แก่ทุกท่านนะครับงั้นเรามาเริ่มกันเลย1. เนื้อเรื่องที่น่าสนใจต้องมีการหักมุมแน่น
01/08/2017
แอดเชื่อมั่นว่าทุกๆคนมีเรือของตัวเอง มีคู่ที่ตัวเองเชียร์สุดใจ ทั้งคู่นอร์มอล คู่วาย 3P 4P 5P บางทีแค่ช่วงเวลาสั้นๆที่เราเห็นตัวละครที่ชอบได้มาอยู่ด้วยกัน มันก็อดไม่ได้ที่จะแอบเชียร์ให้เขาได้กันอยู่ในใจ แอดเลยมารวบรวมสุดยอดคู่จิ้นทั้ง 20 คู่ ที่ใครๆก็อยาก
16/02/2017
เมื่อเวลาผ่านไป หน้าตาคนเราก็ต้องเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แล้วแต่ว่าจะโดนทำร้ายมากน้อยแค่ไหน แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่คนที่เปลี่ยนไป เหล่าหนุ่มสาวอนิเมะมังงะเปลี่ยนไปตามลายเส้นของนักวาดเช่นกัน (มาเป็นคำคมเลยแฮะ คมจนบาดมือจนเป็นแผลละมั้งเนี่ย 55555)วันนี้แอดรวมหนุ่มสา
ส่ง
ความคิดเห็น ()