บทนำ
คิดอยู่หลายวันเหมือนกัน ว่าจะเขียนเรื่องนี้ดีเปล่า แต่พอเข้าไปอัพข่าวสารในเฟสบุ๊คบ้าง ในเว็บไซต์บ้าง หรือข่าวสารตามหน้าหนังสือพิมพ์ ก็ได้รับรู้ข่าวอย่างเช่น "อาชีพนักเขียนการ์ตูนไทย มันลำบากอย่าเป็นเลย" , "เป็นนักเขียนใส้แห้ง" , "พ่อแม่ส่วนใหญ่ ไม่อยากให้ลูกเป็นนักเขียนการ์ตูน" , "เด็กยุคใหม่ ติดการ์ตูนเป็นอันดับ 2 ลองจากโซเชียลเน็ตเวิร์ค" ก็เลยคิดว่า ผมในฐานนะคนที่อยู่กับวงการการ์ตูนไทย ปีนี้ก็เป็นปีที่ 12 แล้ว อาจจะน้อยกว่าใครอีกหลายๆคน แต่ก็พอจะเล่าประสบการณ์ที่เคยผ่านมาสู่กันฟังได้บ้าง ขอบอกตรงนี้ก่อนว่า เรื่องที่เขียนมาทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องจากประสบการณ์ที่คลุกคลีกับนักเขียนไทยหลายๆคน โดยตรง อยากให้ผู้อ่านคิดว่าเป็น "เรื่องเล่าจากประสบการณ์" ของผม ไม่อยากให้คิดว่าเป็นเรื่องของการมา "สอน" กัน นะครับ เอาเป็นว่า เข้าใจตรงกันนะครับ อ่านแล้วถ้าชอบก็คอมเมนท์บอกกันด้านล่างได้เลย จะได้เขียนต่อ แต่ถ้าไม่ชอบก็บอกกัน จะได้หยุดเขียน ไม่มากวนใจอีกต่อไปครับ...
สำหรับเรื่องที่ผมจะมาบอกตรงนี้ ก็อย่างที่บอกนะครับ ไม่ได้เป็นการมา "สอน" จะไม่มีการมาสอนให้วาดการ์ตูนแต่อย่างไร จะไม่มีการมาสอนให้วาดวงกลม สีเหลี่ยม สามเหลี่ยม รูปหมา รูปแมว รูปคน ฯลฯ ใครที่คิดว่าตรงนี้จะเป็นการสอนวาดการ์ตูน เลิกอ่านได้เลยนะครับ เพราะไม่มีสอนแน่ๆ แต่จะมีการบอกเล่า ถึงวิถึชีวิตของนักเขียนการ์ตูนไทยว่า "กว่าจะได้เป็นนักเขียนการ์ตูน" ต้องเจอหรือต้องทำอะไรบ้าง
สำหรับคนที่คิดว่าอนาคตอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน เราลองมาสำรวจตัวเอวดูซิว่า เรามีคุณสมบัติดังต่อไปนี้เหรอเปล่า
การที่จะเป็นนักเขียนการ์ตูนที่ดีได้นั้น เรื่องของ "เวลา" เป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งเลย นักเขียนจะต้องรู้จักการแบ่งเวลาให้ดี ให้ถูกต้อง ต้องรู้จักการยับยั้งชั่งใจ กับสิ่งยั่วยุต่างๆ ที่จะมากระทบกับงานเขียนของเรา ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม การเข้าเฟสบุ๊คหรือไลน์ ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งยั่วเย้าที่ทำให้เราเสียงานมากที่สุดในยุคปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ก็ยังมีกิจกรรมอย่างอื่น ที่มันจะบั่นทอนการทำงานของเราไป แต่ถ้าหากเรามีการจัดการเวลาที่ดีแล้ว ก็จะไม่เกิดปัญหาขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน เราควรจะต้องเป็นผู้จัดการเรื่องของเวลาที่ดีด้วย ถ้ารู้จักการแบ่งเวลาว่าช่วงไหนควรทำงาน ช่วงไหนทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ ก็จะไม่เสียงานแต่อย่างไร
วิธีคำนวนเวลากับงานของเรา
ก่อนอื่นจะต้องรู้ความสามารถของตนเองก่อนว่า ถ้าเราอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน เราสามารถวาดการ์ตูนหรือเขียนงานได้วันล่ะกี่หน้า อย่างเช่น นักเขียนคนหนึ่งสามารถวาดการ์ตูนได้วันล่ะ 1 หน้า หนึ่งเดือนมี 30 วัน เพราะฉะนั้น เขาจะวาดได้เดือนล่ะ 30 หน้า ถ้า 30 หน้าเท่ากับหนึ่งตอน หนังสือการ์ตูนปกติ 1 เล่ม จะมีหน้าประมาณ 200 กว่าหน้า ก็เท่ากับ 6-7 ตอน หากต้องการทำหนังสือการ์ตูนให้กับนักเขียนท่านนี้ 1 เล่ม จะต้องใช้เวลาถึง 6-7 เดือนในการทำต้นฉบับ เห็นไหมครับว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยที่จะทำหนังสือการ์ตูนออกมาสักเล่ม
* ในกรณีที่วาดได้มากกว่าวันล่ะ 1 หน้า เวลาในการรวมเล่มก็จะน้อยลง
** ในกรณีนี้ ไม่รวมการวาดลงใน E-BOOK เพราะการวาดลงใน E-BOOK โดยไม่คำนึงถึงการรวมเล่มในอนาคต ไม่ต้องมีการคำนวนหน้าในการรวมเล่ม แต่ยังคงมีการคำนวนความสามารถในการวาดอยู่เหมือนเดิมว่า หนึ่งวันเราควรวาดได้กี่หน้า
นักเขียนใส้แห้ง...
ครับ คุยมาถึงตรงนี้แล้ว ก็ให้นึกถึงคำนี้ครับ นักเขียนใส้แห้ง เราลองมาคำนวนคราวๆ ดูนะครับ หากต้นฉบับที่ทางสำนักพิมพ์ขอซื้อในราคาหน้าล่ะ 200 บาท (ราคานี้ ผมสมมุติเอานะครับ ซึ่งจริงๆแล้วผมก็ไม่สามารถบอกได้ว่านักเขียนแต่ละคนนั้นได้ค่าต้นฉบับคนล่ะเท่าไหร่? เพราะนักเขียนแต่ละคนแต่ล่ะท่าน ราคางานเขียนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัย เช่น ส่งงานตรงเวลา ลายเส้นสวย เรื่องสนุก ฯลฯ เป็นต้น แต่ราคานี้น่าจะเป็นราคาที่ดูดีที่สุด) เขียนได้เดือนละ 30 หน้า ก็เท่ากับ 30 x 200 = 6000 บาท ดูแล้ว "ไม่น่าพอยาใส้" ในแต่ละเดือนแน่ อันนี้น่าจะหมายถึง นักเขียนใส้แห้งของจริง แต่งานจำนวนนี้ก็น่าจะเหมาะกับพวกนักเขียนมือใหม่ หรือว่า พวกนักเขียนสมัครเล่น ที่ยังไม่เก่งเรื่องวาดสักเท่าไหร่นัก หรือว่าแค่อยากเขียนเป็นงานอดิเรกเท่านั้น หรือพอใจกับงานตรงนี้ ได้แค่นี้ ไม่ได้หวังมากมายอะไร หรือพวกไม่ค่อยเดือดร้อนเรื่องเงินทองอยู่แล้ว อยากให้งานมีคุณภาพ ออกปีล่ะเล่มสองเล่มก็พอใจแล้ว
แต่ถ้าอยากเป็นนักเขียนมืออาชีพจริงๆ ขั้นต่ำควรวาดได้อย่างน้อยวันล่ะ 2 หน้า ซึ่งก็จะเท่ากับ 60 หน้าต่อเดือน หรือเท่ากับ 60x200 =12,000 บาท อันนี้ค่อยยังชั่วหน่อย ไม่เป็นนักเขียนใส้แห้งแล้ว แล้วถ้าต้นฉบับได้หน้าล่ะ 250 บาทล่ะ หรือหน้าล่ะ 300-350-400-450-500 ล่ะรายได้ก็เพิ่มขึ้นไปอีก อันนี้เห็นๆ กันเลยว่า ถ้าหากเราเป็นนักเขียนที่มี วินัย ในเรื่องของการจัดสรรเวลา การตรงต่อเวลา และสามารถทำตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ได้ "อาชีพนักเขียนการ์ตูนตรงนี้ก็สามารถมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้สบายเลย" จะไม่รู้จักคำว่า นักเขียนใส้แห้งอีกต่อไป
นักเขียนบางคนมีผลงานเป็นที่ติดอกติดใจนักอ่านแล้ว บางทีก็ต้องออกผลงานให้ทันใจนักอ่านด้วย แต่ว่าหากทำคนเดียวก็คงไม่ทันแน่ๆ นักเขียนเหล่านี้จึงต้องมี "ผู้ช่วย" หรือ "ลูกมือ" เพิ่มเข้ามา ซึ่งผู้ช่วยหรือลูกมือนี้จะคอยช่วยเหลืองานของเราให้ได้ชิ้นงานเร็วขึ้น ไว้ขึ้นและมากขึ้นอีกด้วย โดยนักเขียนก็มีหน้าที่ล่างภาพแบบละเอียดแค่นั้นพอ ที่เหลือ "ผู้ช่วย" จะเป็น "คนตัดเส้น" ให้ "คนลงสกรีน"ให้ แต่เงินที่ได้จากต้นฉบับก็อาจจะทำให้ผู้วาดได้น้อยลง เช่นถ้าได้หน้าล่ะ 200 บาท จะต้องแบ่งให้ผู้ช่วย ลงเส้นประมาณ 50 บาท(หรือแล้วแต่ตกลง) ลงสกรีนอีก 50 บาท (หรือแล้วแต่ตกลง) ตัวผู้เขียนจะเหลือแค่หน้าล่ะ 100 บาท แต่จากที่วาดได้วันล่ะ1 หน้า ก็อาจจะเป็นวาดวันล่ะ 3 หน้าก็ได้ หนึ่งเดือนก็ได้ 90 หน้า ก็คำนวนรายได้กันไป
แต่นักเขียนบางคนก็ไม่มี "ผู้ช่วย" หรือ "ลูกมือ" นะ เขียนคนเดียว แต่งานก็ออกมาเร็วและดีได้ด้วยฝีมือที่ฝึกฝนมา อันนี้น่านับถือจริงๆ
แต่...(แต่อีกแล้ว) ปัจจุบันการรับซื้อต้นฉบับจากนักเขียนของสำนักพิมพ์ต่างๆ จะมีการรับซื้อที่แตกต่างกันออกไป บางบริษัทรับซื้อเป็นหน้าๆ หรือเป็นตอนๆ บางบริษัท รับซื้อเป็นเล่มๆ บางบริษัทก็ทำเหมือนการร่วมหุ่นกัน คือนักเขียนออกต้นฉบับ ทางบริษัทออกเงินทุนในการพิมพ์ ขายได้เท่าไหร่ เอามาแบ่งคนล่ะครึ่งหรือให้ได้ทุนกันก่อน จากนั้นได้กำไรเท่าไหร่ก็ค่อยมาหารกัน ในกรณีที่เรื่องนั้นขายได้กำไร แต่ถ้าขายไม่ดีหรือไม่ได้ ก็ตัวใครตัวมัน เรียกว่าเสี่ยงทั้งคู่ คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับทางบริษัทที่นักเขียนจะนำต้นฉบับไปเสนอแล้วล่ะครับ ว่าจะตกลงซื้อขายต้นฉบับกันยังไง ตัวนักเขียน ควรศึกษาข้อตกลงตรงนี้ให้ดีแล้วตัดสินใจเอา
สิ่งที่ใหญ่ที่สุดคือ พื้นน้ำท้องทะเล ซึ่งเป็น 3 ใน 4 ส่วนของโลกเรา แต่สิ่งที่ใหญ่กว่าพื้นน้ำไปอีกนั้นก็คือ โลกของเรา มีพื้นที่ใหญ่โตมโหฬารมาก และสิ่งที่ใหญ่กว่าโลกเราไปอีกก็คือ จักรวาล หรือกาแล็กซี่ซึ่งกว้างใหญ่ไพศาลไกลสุดลูกหูลูกตา แต่ก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่กว้างใหญ่กว่านั้นอีกคือ "จินตนาการของคนเรา" นั่นเองครับ จินตนาการของคนเราเป็นสิ่งที่เป็นอะไรไม่รู้จบจริงๆ การจินตนาการจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งสำหรับงานสร้างการ์ตูนให้สนุก ให้ตื่นเต้น ให้น่าติดตาม อะไรที่โลกนี้ทำไม่ได้ แต่จินตนาการทำได้ อะไรที่โลกนี้ไปไม่ถึง แต่จินตนาการไปถึง อะไรที่โลกนี้กินไม่ได้ แต่จินตนาการกินได้ เห็นไหมครับการมีจินตนาการ มันก็จะเป็นเครื่องจักรสำคัญอีกตัวหนึ่ง ที่จะสามารถให้เราเขียนงานการ์ตูนออกมาได้ ถ้าเราจินตนาการว่า เราหายตัวได้ เราก็วาดการ์ตูนให้เห็นว่าเราหายตัวได้ ถ้าเราจินตนาการว่าอยากกินตู้เย็น เราก็วาดรูปเรากินตู้เย็น ในโลกของการ์ตูนไม่มีใครว่าเราบ้าหรอกครับ เพราะว่ามันเป็นโลกแห่งจินตนาการทั้งนั้น อยู่ที่ว่า "จินตนาการของใครจะสนุกกว่ากัน" ก็เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น อยากเป็นนักเขียนการ์ตูน ต้องหัดใช้จินตนาการให้เก่งๆ ครับ
การวาดการ์ตูนก็ถือเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง แต่ที่จะพูดถึงตรงนี้ คืองานด้านองค์ประกอบศิลป ถ้าคุณมีความสามารถทางด้านนี้ด้วย ยิ่งดีกับงานเขียนการ์ตูนของคุณเป็นอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่นการจัดหน้าการ์ตูน หากคุณมีจินตนาการที่ดีแล้ว เรื่องของศิลปะในการจัดหน้าการ์ตูนก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากเลย คุณจะรู้ว่า ในแต่ละหนึ่งหน้าควรจัดเรียงอย่างไร ควรมีกี่ช่อง ในแต่ละช่องควรมีการวางตัวการ์ตูนหรือตัวละครที่เราวาดไว้อย่างไร หรือเขียนฉากอย่างไหนให้ดูดีดูสวย ในรูปที่เป็นเหตุการณ์เดียวกันมุมมองอย่างไหนสวยกว่า จะเป็นมุมมองตรงๆ หรือมุมมองจากด้านบน หรือมุมมองจากด้านข้าง อันไหนจะได้อารมณ์มากกว่ากัน ฉากๆ นี้ควรมีอะไรอยู่ในฉากบ้าง น้ำหนักของภาพแต่ละช่องแต่ล่ะหน้า ดูแล้วสมดุลกันไหม ตรงนี้ควรเพิ่มเส้นเพอร์สเปคทีฟไหม หรือตรงนี้ไม่ต้องมีอะไรมาบดบังจะสวยกว่า อะไรประมาณนี้ ก็คือคุณต้องมีหัวศิลปะด้วย ถึงจะออกมาดี แต่อย่างว่าล่ะครับ งานเขียนที่ดีๆ ก็อยู่ที่นักเขียนอีกนั้นแหละว่า มีการฝึกวาดมาเยอะไหม ควรฝึกวาดเยอะๆ ยิ่งเยอะเท่าไหร่ยิ่งดี ยิ่งมากเท่าไหร่ยิ่งเก่งประสบการณ์ในการวาดเยอะๆ มันจะสอนให้เราเองโดยอัตโนม้ติว่า เราควรวาดแบบไหน ให้มันดูสวย ให้มันดูดี ให้มันเหมาะสม ให้มันเป็นศิลปะ ให้มันดูแล้วคนชอบ ต้องศึกษาด้านศิลปะพอสมควร ยิงได้รู้อนาโตมีของมนุษย์และสัตว์ด้วยยิ่งดีใหญ่ จะได้เขียนภาพออกมาได้สมสัดส่วน
บางคนวาดได้ดีได้สวยในรูปแบบของ "การวาดภาพ" แต่พอมาวาดเป็นการ์ตูนช่องๆ แล้ว ไม่สามารถทำได้ดีเลย ในกรณีเช่นนี้ควรฝึกฝนการวาดให้เยอะๆ วาดหลายๆแบบ บางทีมีวัตถุแบบอย่างเดียวให้เราวาด เราควรฝึกวาดหลายๆมุม วาดมุมสูงบาง มุมข้างบ้าง มุมตรงบ้าง เป็นต้น จะเป็นการช่วยฝึกฝนการวาดได้อย่างเยอะเลยครับ
ครับ ถ้าคุณสำรวจตัวคุณแล้ว หากมี 3 คุณลักษณะใหญ่ๆดังที่กล่าวมาข้างต้น ขอแสดงความดีใจด้วย คุณกำลังเดินทางมาถูกทางแล้วครับ หรือใครยังไม่แน่ใจอยากลองเป็นนักเขียนการ์ตูนมืออาชีพดู ก็ลงมือทำเลยครับ อย่ารอช้า อย่าเดี๋ยวก่อน อย่าบอกไม่มีเวลา เพราะว่า
"อาชีพนักเขียนการ์ตูน เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่หลายคนใฝ่ฝัน แต่หารู้ไหมว่า อาชีพนักเขียนการ์ตูนนั้น นอกจากผู้เขียนจะต้องมีฝีมือในด้านการเขียนภาพการ์ตูนที่ต้องฝึกฝนมาอย่างดีแล้วนั้น ยังต้องมี "ความอดทน" "ความอดกลั้น" "การตรงต่อเวลา" "มีสมาธิ" "มีใจรักและซื่อสัตย์ต่องาน" และต้องเป็น "ผู้มีจินตนาการอักว้างไกล" อีกด้วย และถ้าคุณทำเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ คุณก็จะเป็นนักเขียนที่ดีไม่ได้เช่นกัน...."
---------------------------------------------------------------------------------------------
นอกเรื่อง 1
หากอ่านแล้วชอบบทความนี้ ช่วยกด "ถูกใจ" เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้เขียนด้วยนะครับ แต่ถ้าเกิดอ่านแล้ว ติดใจ ช่วยกด "ติดตาม" ให้ด้วยนะครับ จะได้รีบมาเขียนบทใหม่ให้
นอกเรื่อง 2
อ่านบทอื่น
กว่าจะได้เป็นนักเขียนการ์ตูน (บทที่1) ตอนที่ 1 : มารู้จักคำว่า "การ์ตูน" กันก่อน
http://www.wecomics.in.th/blogs/-1/detail-page/86
กว่าจะได้เป็นนักเขียนการ์ตูน (บทที่1) ตอนที่ 2 : เขียนเรื่องอะไรดี
http://www.wecomics.in.th/blogs/--1--2/detail-page/149
กว่าจะได้เป็นนักเขียนการ์ตูน (บทที่1) ตอนที่ 3 : เขียนเรื่องอย่างไรให้ "สนุก"
http://www.wecomics.in.th/blogs/--1--3--/detail-page/253
นอกเรื่อง 3
ลืมแนะนำตัวไป เดี๋ยวคนเข้ามาอ่าน จะมีคำถามว่า ไอ้บ้านี้เป็นใคร ฮ่าๆๆ ผมชื่อ อนุชา ชัยชมภู หรือน้องๆ นักเขียนการ์ตูนเรียกกันติดปากว่า "ป๋าอู๊ด" แห่งไทคอมิค ปัจจุบันทำงานอยู่ในกองบรรณาธิการหนังสือการ์ตูนในเครือวิบูลย์กิจแผนกการ์ตูนไทย ตำแหน่ง "ผู้ช่วยบรรณาธิการไทคอมิค" ทำงานอยู่ในกองบอกอไทคอมิคมาปีนี้เป็นปีที่ 12 ( ก่อนหน้านั้นเคยอยู่ในกองบอกอการ์ตูนญี่ปุ่นมา 4 ปี และเคยเป็น บอกอนิตยสารในเครื่อง TONBO มาแล้ว 7 ปี) มีหน้าที่ดูแล เนื้อเรื่องการ์ตูนที่น้องๆ ส่งเข้ามา (ดูทั้งเนื้อเรื่องและลายเส้น) เพื่อนำเสนอให้ บ.ก.พิจารณาดูอีกที เป็นฝ่ายดูแลนักเขียนในเครือ ไทคอมิค เป็นคนดูแลฝ่ายกิจกรรมนักเขียน แบบนักเขียนคนนี้ต้องไปออกงานที่นู้น นักเขียนคนนี้ต้องไปเป็นวิทยากรที่นั้น อะไรประมาณนี้ ติดต่อผมมาได้ เป็นที่ปรึกษานักเขียน ปรึกษาเรื่องงานได้ทุกเรื่อง ยกเว้น เรื่องยืมเงินไม่มี ฮ่าๆๆ เป็นแอ็ดมิน แฟนเพจไทคอมิค , แฟนเพจวิบูลย์กิจ และ แฟนเพจ MOVERinTHAI เป็นบอกอนิตยสาร Mr.M0NTHLY รายเดือน เป็นผู้ดูแล การเรียนการสอนในโครงการ "Thaicomic Mini Workshop Turn Pro" (เส้นทางสู่นักเขียนมืออาชีพ / ปัจจุบันสอนจบไป 4 รุ่นแล้ว) เป็นคอลัมน์นิสต์ฝ่ายบันเทิงให้กับ หนังสือพิมพ์เสียงประจวบ (หนังสือพิมพ์ประจำจังหวัดประจวบ) แล้วก็เป็น...(อีกเยอะเลย)...คุยเฟสบุ๊คกับผมได้ที่ www.facebook.com/paraud
ข้อมูลจะถูกนำออกทำให้ไม่สามารถอ่านได้อีกน่าเสียดายมากเลย
แน่ใจแล้วหรือที่ต้องการลบข้อมูลออก
หากยืนยันแล้วจะไม่สามารถกู้คืนมาได้อีกนะ!