[รีวิว] เดทงานหนังสือ…กับ 5 หนุ่ม “คณะประพันธกรจรจัด”
วันที่โพสต์: 14/03/2018
โดย: lilith wong

—วันที่ 29 มีนาคม – 8 เมษายน 2561 นี้ว่างรึเปล่า
ไป งานสัปดาห์หนังสือ ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ด้วยกันไหม?—

 

คิดว่างานหนังสือคราวนี้หลายคนคงจดลิสต์แน่นๆ พร้อมเข้าชาร์จสิ่งที่หมายตา
ทั้งการ์ตูน ไลท์โนเวล นิยาย อาร์ตบุ๊ค นิตยสาร หนังสือ—และอื่นๆ อีกบานตะไท

 

แต่หากมีงบเหลือก้นกระเป๋า (หรือจากการวืดหนังสือ ซึ่งขออย่าเกิดขึ้นเลยค่ะ)
—หรือแค่อยากเปลี่ยนสไตล์การอ่านกันสักนิด ไปสู่อะไรแปลกใหม่กันสักหน่อย

 

—ปันใจและงบ ให้ 5 หนุ่ม (และไม่หนุ่ม) ตัวละครจาก “คณะประพันธกรจรจัด”
พาไปเดทเลือกซื้อวรรณกรรมญี่ปุ่นน่าสนใจในงานหนังสือกันเต๊อะ!

 

—เพราะไม่อยากให้ลำบากตรากตรำจน “สูญสิ้นความอยากอ่าน” ไปเสียก่อน
จึงขอรีวิวโดยเลือกเล่มที่หาซื้อง่าย เนื้อหาไม่หนักเกินเหมาะกับคนเริ่มอ่านค่ะ


ดาไซ โอซามุ | 太宰治

 

 

—คงไม่พูดถึงเรื่อง “สูญสิ้นความเป็นคน” ชื่อเดียวกับพรสวรรค์คุณดาไซไม่ได้
หรือที่ในไลท์โนเวลจะแปลว่า “สูญสิ้นมนุษย์สมบัติ” แต่มันก็คือๆ กั๋น

เรื่องนี้จริงๆ ไม่ต้องกลัวว่าอ่านยาก เพราะเป็นหนังสือนอกเวลาของเด็กมัธยมญี่ปุ่น
เข้าใจวัยขบถเหมือนแอบเจาะหัวหนุ่มสาวผู้รู้สึกเป็นส่วนเกินของสังคมมาเขียน

เนื้อหาออกจะกึ่งๆ บันทึกอัตชีวประวัติของคุณดาไซ โอซามุ ตัวจริงเสียงจริง
ที่บอกเล่าผ่านบันทึกของตัวละคร “โยโซ” (เป็นหนังสือในหนังสืออีกทีค่ะ)
ในเล่มมีคำตอบว่าทำไมดาไซซังชอบชวนสาวสวยไปลอยคอในแม่น้ำนัก (ฮา)

—ที่สำคัญ คือ มีสูตรโกง! เพราะคุณ อิโต จุนจิ นำมาดัดแปลงเป็นมังงะ
ในลายเส้นหลอนๆ และเพิ่มเติมความเป็นแฟนตาซีชวนจิตหลุดเข้าไปด้วยค่ะ

 

 

อีกเล่มที่เพิ่งออกคือ “อาทิตย์สิ้นแสง” เล่มนี้อาจจะโรแมนติกกว่านิดๆ
เพราะเขียนอิงมุมมองของหญิงขุนนางสูงศักดิ์ที่ผันตัวมาเป็นภรรยาน้อย
—ซึ่งร่ำลือว่าในชีวิตจริงคือคนรัก (เมียเก็บ) คนหนึ่งของคุณดาไซค่ะ

หากไม่อยากอ่านอะไรยาวๆ จะเริ่มจากรวมเรื่องสั้น “เมียชายชั่ว” ก็มีให้เลือก
—เปิดด้วยเรื่องสั้นของหญิงสาวผู้ตรากตรำทำงานหาเลี้ยงลูก และสามีขี้เมา

อืม—บางทีดาไซซังก็ออกจะดูเป็นพิษภัยอันตรายต่อเพศหญิงจริมๆ (ฮา)

ทั้งหมดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ JLIT หากพรีออร์เดอร์จะได้รับปกพิเศษแนวมังงะ
จากนักวาดฝีมือสุดแหล่มอย่างคุณ HIRUNA ด้วยนะ!

 

 

แต่อนิจจาเล่มที่ออกมาแล้วคงไม่มีปกแจก—รอลุ้นเล่มหน้า หรือที่บูทในงานนะคะ

(นี่กัดผ้าเช็ดหน้าร้องไห้เพราะเก็บปกเล่มแรกๆ ไม่ทันมาหลายเพลาแล้ว
ถ้าทาง JLIT อ่านอยู่อยากให้รู้ว่าช้ำใจค่ะ—ฮือ)


อาคุตางาวา ริวโนะสุเกะ | 芥川 龍之介

 

 

—ชื่อพรสวรรค์ “ราโชมอน” ของอาคุตางาวาคุงคงพอจะคุ้นหูคนไทยไม่น้อย
หากไม่ใช่จากฉบับที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ นำมาดัดแปลงให้เข้ากับบริบทไทยๆ
ก็จากการถูกนำมาใช้บ่อยๆ เวลาเกิดคดีที่แต่ละฝ่ายให้การไม่ตรงกัน (ฮา)

—แต่จริงๆ เรื่องสั้น “ราโชมอน” ของคุณอาคุตางาวานั้นมีเนื้อหาอีกแบบ
พล็อตการให้ปากคำของโจรป่า เมียซามูไร ผีซามูไรโอเวอร์โซลคนทรง ฯลฯ
อยู่ในอีกเรื่องที่ชื่อ “ในป่าละเมาะ” ต่างหาก—แค่ยืมชื่อที่ติดหูกว่ามาใช้

กระนั้นก็ไม่ต้องกังวล เพราะ “ราโชมอน และเรื่องสั้นอื่นๆ” ของสำนักพิมพ์สมมติ
มีทั้ง “ราโชมอน“ และ “ในป่าละเมาะ” เดอะ ออริจินัล รวมมาให้แล้ว!

คุณอาคุตางาวามักจะเน้นการนำเอานิทานพื้นบ้านมาเล่าใหม่ให้ดูโมเดิร์นๆ ขึ้น
อย่าง “ท่านหญิงแห่งโรคุโนะมิยะ” หรือ “ความจงรักภักดีและเรื่องสั้นอื่นๆ” เช่นกัน

ซึ่งถ้าไม่ใช่แนว ขอแนะนำ “ขัปปะ” สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม แนวแฟนตาซีเบาๆ
ของชายหนุ่มที่หลงไปอยู่ในแดนของตัวขัปปะ แต่จิกกัดสังคมขั้นเทพ (ฮา)

คุณอาคุตางาวาผ่านนิยายอาจไม่คาแรกเตอร์จัดอารมณ์รุนแรงเท่าหนุ่มพอร์ตมาเฟีย
—แต่ถ้าอ่านดีๆ จะเห็นความมืดหม่นมองโลกในแง่ร้ายจิตใจไม่มั่นคงเหมือนกันค่ะ


เอโดงาวะ รัมโป | 江戸川 乱歩

 

 

—เพราะเป็นนักเขียนสายแมส ผลงานจึงล้นหลามบานตะไทไม่รู้หยิบเล่มไหนดี
ดังนั้นจึงของเริ่มจากซีรี่ของตัวเอกชื่อดังที่หลายคนคงรู้จักดีก่อนนะคะ

 

“คดีฆาตกรรมบนเนิน D” สำนักพิมพ์ JLIT รวมคดีสั้นๆ ของ “อาเคจิ โคโกะโร“
ยอดนักสืบผู้เป็นที่มาชื่อคุณพ่อตา (?) “โมริ โคโกโร่” ของ “เอโดกาว่า โคนัน”
รวมถึงคุณปู่ของหนุ่มสุดเนี้ยบ “อาเคจิ เคนโกะ” คู่ปรับของคินดะอิจิ ฮาจิเมะ

 

(คุณ STECHA วาดปกพิเศษของซีรี่นี้ได้หล่อวัวตายควายล้มฟีโรโมนหึ่งมากค่ะ)

 

 

นอกจากนี้หลายคดีที่น่าสนใจของคุณอาเคจิยังตีพิมพ์ที่สำนักพิมพ์ JClass
อย่าง “แมงมุมสังหาร” “ปริศนากิ้งก่าดำ” หรือ “บุรุษเสือดาว" ด้วยค่ะ

 

แต่ถ้าอยากได้อะไรอ่านง่ายๆ สั้นแต่ขนลุกชูชัน ทั้งสยองขวัญ–สืบสวน–แฟนตาซี
รวมเรื่องสั้น “สยองขวัญ” สุดคลาสสิคของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ก็เป็นทางเลือกที่ดี


“เก้าอี้พิศวาส” หรือ”เก้าอี้มนุษย์” ที่คุณ อิโต จุนจิ (อีกแล้ว) นำไปวาดก็อยู่เล่มนี้

 

 

(ส่วนผู้อ่าน “บิเบลีย บันทึกไขปริศนาแห่งร้านหนังสือ” เรื่อง “นักเดินทางกับรูปผ้า”
หรือ “ชายผู้เดินทางกับรูปภาพ” ที่ต้นฉบับเดิมลงชักโครกไปแล้ว ก็อยู่เล่มนี้ค่ะ)

 

—คออนิเมะอาจจะลองชมเรื่อง “乱歩奇譚 Rampo Kitan: Game of Laplace”
มีการนำตัวละครในนิยายของคุณรัมโปมาใช้พอกล้อมแกล้มพอฟินให้เหล่าแฟนๆ

แต่เนื้อเรื่องซอฟต์ๆ เบาๆ เคล้ากลิ่นวาย ไม่ค่อยเหมือนในหนังสือหรอกนะ (ฮา)

 

ถึงได้อิทธิพลจาก เอ็ดการ์ อัลลัน โป นักเขียนโกธิค (ผีสาง–สาวงาม–ความตาย)
แต่งานของคุณรัมโปมักจะตื่นเต้นระทึกใจ คาดเดาไม่ได้ หักมุมแล้วหักมุมอีก
เช่นเดียวกับตัวละครพ่อหนุ่มสุดแอคทีฟช่างพูดจ้อ จับไม่ได้ไล่ไม่ทันในเรื่องค่ะ


นัตสึเมะ โซเซกิ | 夏目 漱石

 

 

—เล่มที่คิดว่าไม่ควรพลาด คือ “โคะโคะโระ” จากสำนักพิมพ์ยิปซีค่ะ
อย่าผวาเมื่อเห็นว่าพิมพ์รูปแบบปกแข็ง เพราะเนื้อหาด้านในคุ้มค่าคุ้มราคามากๆ
(เล่มนี้ว่ากันว่าเป็นวรรณกรรมญี่ปุ่นที่ขายดีที่สุด รองมาก็ “สูญสิ้นความเป็นคน”)

เรื่องราวความสัมพันธ์ต่างวัยระหว่างเด็กหนุ่ม กับ “เซนเซ” ผู้สุภาพและลึกลับ
(อย่าเพิ่งนึกภาพละครเรื่อง “ล่า” ขึ้นมาในหัวนะคะ มิสสร มันไม่เกี่ยวก๊านนน) 
—ที่ค่อยๆ เผยความลับ และชะตากรรมแสนโศกในอดีตออกมาทีละเล็กละน้อย

ส่วนเล่มที่เอื้อมถึงได้ไม่ยาก คือ “ฝันสิบราตรี” บันทึกความฝันสิบค่ำคืน
เรื่องสั้นตอนละไม่ยาว อ่านง่าย คล้ายนิทานพื้นบ้าน ได้กลิ่นไอลึกลับชวนพิศวง
(ถ้าดูเมะซากุระจังภาคเคลียร์การ์ดตอนที่ 6  นี่คือเรื่องที่อากิโฮะจังลุกขึ้นอ่านค่ะ)

 

 

แม้ยังไม่ได้อ่าน แต่ขอเชียร์ “ซันชิโร” (JLIT) ที่จะออกในงานหนังสือล่วงหน้า
เป็นนิยายแนววัยเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงที่สุดของคุณโซเซกิค่ะ

 

ปกพิเศษ “ฝันสิบราตรี” ของคุณ Silveray คงจะหาไม่ได้แล้ว—แต่ไม่ต้องเสียใจ
เพราะ “ซันชิโร” ถ้าซื้อในงานจะได้รับปกโดยนักวาดคุณ MeanMean ด้วยนะคะ!

 

 

บททั้งในเมะและหนังสือของคุณโซเซกิแทบไม่เห็นหน้าค่าตา (โผล่มาแค่ไม้เท้า)
แต่ยังคงทั้งบารมีและความเก๋า สมเป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งญี่ปุ่นยุคโมเดิร์นค่ะ


ทานิซากิ จุนอิจิโร่ | 谷崎 潤一郎

 

 

เนื่องจากท่านนี้เขียนหนักไปทางอีโรติก—ขอเลือกเล่มที่ไม่สุ้มเสี่ยงมาแทน (ฮา)
ผลงานแนวอีโรติกที่ได้รับการแปลจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ เสียเยอะ
(แว่วๆ มาว่าทาง JLIT ก็มีเล็งๆ บางเล่มไว้ แต่ยังไม่ประกาศเป็นทางการค่ะ)

 

“เยิรเงาสลัว” ออกแนวความเรียงเชิงสถาปัตยกรรมที่เคียงคู่วัฒนธรรมญี่ปุ่น
กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงจากความงามดั้งเดิมแบบญี่ปุ่น สู่เทคโนโลยีตะวันตก
แม้จะดูเฉพาะทางแต่อ่านไม่ยาก เหมาะกับการอ่านไปนั่งจิบชาสโลว์ไลฟ์ไปสึดๆ

 

ที่สำคัญสำนักพิมพ์ openbooks ที่จัดพิมพ์เล่มนี้ประณีตกับรูปเล่มมากกก
จนเคยเกิดกระแสนักอ่านแห่ซื้อเพราะความดีงามจนหมดจากสต็อกเลยล่ะ!

 

จะว่าไปก็น่าแปลกใจนิดๆ ที่ในเมะทานิซากิคุงออกจะดูเป็นพ่อหนุ่มกินพืชหน่อยๆ 
แต่ก็ยังได้คุณน้องสาวนาโอมิมารับบทบาทแสนยั่วยวนนี้แทน (ฮา)
(นาโอมิเองก็เป็นชื่อนางเอกในหนังสือของคุณทานิซากิด้วย แต่ยังไม่มีแปลค่ะ)


อ๊ะ เดี๋ยวๆ สุดท้ายนี้ยังไม่ลืมหรอกนะ!

 

“คณะประพันธกรจรจัด” ฉบับไลท์โนเวล พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Phoenix ถึงเล่ม 3
เล่ม 3 ล่าสุดถ้าซื้อผ่านเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ หรือที่ร้าน animate สาขา MBK
จะได้ที่คั่นหนังสือคุณรัมโปไปนอนกอดด้วย! (ของมันต้องมีย์—เพราะเมนคุณรัมโป)

 

 

ส่วนมังงะในชื่อเดียวกัน ลิขสิทธิ์เป็นของ LUCKPIM ออกมาถึงเล่ม 9 แล้วนะ!

 

และที่ญี่ปุ่นในตอนนี้ มูฟวี่ "Bungo Stray Dogs: DEAD APPLE" กำลังฉายค่ะ!
ถ้าใครมีโอกาสได้ดูอย่าลืมมารีวิวให้ได้ฟังกันนะคะ

 

 

(ดูรอยยิ้มคุณดะไซนั่นสิย์)

 

ป.ล.
อยากอ่านงานของคุณมิยาซาวะ เคนจิ อย่าง “รถไฟสายทางช้างเผือก”
หรือ “แมวมอง” ของคุณนัตสึเมะจะแย่แล้ว ใครช่วยนำกลับมาแปลทีเถอะค่ะ
(ตีพิมพ์ครั้งล่าสุดน่าจะเมื่อสัก 15 ปีก่อนได้แล้วล่ะ—พิมพ์ใหม่ให้ชื่นใจทีย์)

 

ขอบคุณที่ตามอ่านมาจนถึงตรงนี้ แม้ว่ามันจะยาวมากๆ นะคะ (ฮา)
ขอให้ทุกคนสนุกสนานในงานหนังสือ เก็บเป้าหมายได้ครบไม่มีพลาดค่ะ!

 

แล้วพบกันใหม่นะ! ╰(*´︶`*)╯♡

lilith wong

บล็อกที่น่าจะชอบ

12/05/2016
[ครั้งแรกกับ Character Drama CD ของ ยมจัง แอนด์ เดอะ แก๊ง]‘สุวาน’Character Voice : RIGGSVOICEลิงค์ฟังเสียงสุวาน : https://soundcloud.com/redcarpetsiam/drama-cdโปรเจ็คเล็กๆ ที่คิดไว้สักพักใหญ่แล้ว อยากทำพวก Drama CD ขึ้นมา (แต่ไม่มี CD ขายหรอกนะคะ ฮ่า) เลย
02/02/2017
เป็นอีกหนึ่งไอเดียที่แอดชอบมากถึงม้ากกกที่สุด ของ SanomSai Products ( https://www.facebook.com/brush.soap) ที่จับเอาเหล่าดปรแกรมคอมทั่วๆ ไปที่หลายคนน่าจะรู้จักกันดี มาวาดใหม่ตามจิตนาการของตัวเอง กลายเป็นสาวๆ ที่มีสไตล์ตามลักษณะการใช้งาน เช่นMicrosoft Offi
18/03/2017
ข้อดีอย่างหนึ่งของเพื่อนๆ ที่สนใจอยากวาดการ์ตูนในยุคนี้คือ สามารถหาความรู้และเทคนิคในการวาดได้จากหลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่มีนักวาดรุ่นพี่หลายๆ คนมักจะออกมาแชร์ประสบการณ์รวมไปถึงเทคนิคการวาดให้ดูกันแบบฟรีๆ วันนี้แอดเลยอยากจะยกตัวอย่าง Youtube
28/02/2017
ใน part นี้ จะพูดถึงเรื่องของ การวาดทรงผมก่อนนะครับ *0*ถ้าพร้อมจะ เกาหัวและมึนสารระเหย ของ how to นี้แล้ว ก็เริ่มอ่านเลยคนับ-0--------------------... สงสัยอะไร หรือ อยากคุยเล่น คอมเมนท์กันให้เต็มที่เลยครับใครมีเรื่องอะไรอยากให้เขียน ลองเสนอกันเข้ามาได้นะค
ส่ง
ความคิดเห็น ()