บทที่1 เขียนเรื่องให้ได้เรื่อง
ตอนที่ 1 : มารู้จักกับคำว่า “การ์ตูน” กันก่อน
เป็นอย่างไรบ้างครับ หลังจากที่เราสำรวจตัวเองจาก “บทนำ” ไปแล้ว ถึงคุณสมบัติหลักๆ ของผู้ที่อยากมีอาชีพเป็นนักเขียนการ์ตูน ทั้งเรื่องของเวลาและการรับผิดชอบ, เรื่องของจินตนาการ และ เรื่องของศิลปะ หากคุณคิดว่า 3 หัวข้อนี้คุณสามารถทำได้อย่างสบายๆแล้วละก็ แสดงว่าตอนนี้คุณได้เป็น "ว่าที่นักเขียนการ์ตูนคนใหม่ของประเทศไทย" ไปแล้วครึ่งนึงครับ เอาละ ถ้าอย่างนั้นเรามาดูข้อมูลตอนต่อไปกันเลย...
ก่อนที่เราจะไปเขียนการ์ตูนกัน เรามาทำความรู้จักกับคำว่า “การ์ตูน” กันก่อนดีไหมครับ นักเขียนหลายท่านอาจจะรู้เรื่องตรงนี้เป็นอย่างดีแล้ว เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า ผมเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน เอาเป็นว่าผมขอบอกเล่าตรงนื้นักเขียนมือใหม่ก็แล้วกันนะครับเผื่อว่ายังไม่รู้กัน หรือว่านักเขียนบางคนอาจจะลืมๆกันไปแล้ว ก็ลองมาอ่านดู
ผมเคยไปสัมมนาเรื่องที่เกี่ยวกับการ์ตูนกับ Dr.John ALent ซึ่งท่านเป็น Prof หรือ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการ์ตูนทางฝากเอเขีย จาก Temple University ซึ่งทางกรุงเทพมหานครเป็นผู้จัดมาแล้ว พอจะสรุปคราวๆ สั้นๆ ของคำว่า การ์ตูน ได้ว่า...
การ์ตูน
: คือ การ “วาดภาพ” ในลักษณะที่เป็นลายเส้น หรือจุดที่นำมาเรียงๆกันจนเกิดเป็นภาพขึ้นมา ในภาพจะประกอบไปด้วยอะไรก็แล้วแต่ แต่ต้องเป็นภาพๆเดียวกัน อยู่ในกรอบ(ช่อง) เดียวกัน ภาพที่วาดเสร็จแล้ว หรือหยุดวาดแล้ว เราจะเรียกว่า “ภาพวาด” หรือ "ภาพการ์ตูน" เช่น การ์ตูนกรอบเดียว ที่เป็นการล้อเลียนการเมือง ตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ หรือ การ์ตูนกรอบเดียว จากหนังสือประเภทตลกขบขัน หรือที่อยู่ใน Ookbee นี้ให้เราเลือกไปที่หัวข้อ "ภาพวาด" ก็จะเห็น "ภาพการ์ตูน" ทันทีเลยครับ เป็นต้น
นี้ไงครับ ภาพการ์ตูน1.ภาพการ์ตูนจากคุณ วิเชียร แซ่ลี้ 2.ภาพวาดจากน้องฝ้าย ผู้เขียนการ์ตูนเรื่อง "ศาสตราอสูร" 3.ภาพวาดจากน้องที่มาฝีกงานครับ
การนำเอา “ภาพการ์ตูน” ที่มีลักษณเป็นเรื่องเดียวกัน มาเรียงต่อๆกันเป็นช่องๆ จะเรียกว่า “การ์ตูนช่อง” หรือบางคนเรียกการ์ตูนประเภทนี้ว่า “การ์ตูนแก๊ก” โดยปกติแล้ว การ์ตูนช่อง จะเป็นเรื่องเดียวกันที่จบเรื่องภายใน 3-4 ช่อง จึงมีบางคนเรียกการ์ตูนชนิดนี้ว่า “การ์ตูน 3 ช่องจบ”, “การ์ตูน 4 ช่องจบ” ส่วน 2 ช่อง หรือ 5 ช่องขึ้นไปก็ทำได้ แต่มีส่วนน้อย ส่วนมากจะเป็น 3-4 ช่องมากกว่า
การ์ตูนที่แบ่งเป็นช่องๆ แล้วจบภายใน 1 หน้า หรือไม่เกิน 5 หน้า เรียกว่า "การ์ตูนช่อง"
การนำ “ภาพการ์ตูน” ที่เป็นเรื่องเดียวกัน นำมาเรียงเป็นช่องๆ ต่อกันอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งหน้าจะมีหลายช่อง และมีหลายหน้ากว่าจะจบ แต่ไม่เกิน 100 หน้า (โดยประมาณ/คำนวณจากจำนวนเพลด1) จะถูกเรียกว่า “การ์ตูนขนาดสั้น” หรือ “การ์ตูนสั้น” การ์ตูนพวกนี้ เช่นการ์ตูนเล่มล่ะบาท หรือ ปัจจุบันเป็นเล่มแล้ว 5 บาท แล้ว เป็นต้น
การ์ตูนที่มีความยาวของหน้าไม่เกิน 100 หน้า มักจะนิยมเรียกว่า "การ์ตูนสั้น" หรือ "การ์ตูนขนาดสั้น"
ส่วนการ์ตูนที่เป็นเรื่องเดียวกัน นำมาเรียงเป็นช่องๆ ต่อกันอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งหน้าจะมีหลายช่อง และมีหลายหน้ากว่าจะจบ โดยมีมากกว่า 101 หน้าขึ้นไป (โดยประมาณ/คำนวณจากจำนวนเพลต) แต่ไม่เกิน 1000 หน้า จะถูกเรียกว่า “การ์ตูนเรื่องสั้น” และตั้งแต่ 1000 หน้าขึ้นไป จะถูกเรียกว่า "การ์ตูนเรื่องยาว"
** การ์ตูนที่อยู่ประมาณ เล่มเดียวจบ - 5 เล่มจบ (หนึ่งเล่มประมาณ 180 หน้า ไม่เกิน 200 หน้า) จะถูกเรียกว่า “การ์ตูนเรื่องสั้น”
** แต่ถ้าการ์ตูนขนาด 6 เล่มจบขึ้นไป (หนึ่งเล่มประมาณ 180 หน้า ไม่เกิน 200 หน้า) จะถูกเรียกว่า "การ์ตูนเรื่องยาว"
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าการ์ตูนที่คุณเขียนจะเป็นการ์ตูนประเภทไหน “การ์ตูนสั้น” หรือ “การ์ตูนเรื่องสั้น” หรือ “การ์ตูนเรื่องยาว” ก็แล้วแต่ หากว่าเป็นนักอ่านนักเขียนการ์ตูนที่มาจากทางฝั่งยุโรปหรือทางฝั่งอเมริกาหรือเป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักด้วยแล้ว จะเรียก"การ์ตูน"(CARTOON) พวกนี้ว่า"คอมมิค"(COMIC) และจะเรียกตัวนักเขียนการ์ตูนว่า "การ์ตูนนิสต์" (Cartoonist)
* นั้นก็หมายความว่า หากนักเขียนไทยเรานำงานประเภท "การ์ตูนสั้น" หรือ "การ์ตูนเรื่องสั้น" หรือ "การ์ตูนเรื่องยาว" ไปเสนอทางฝั่งยุโรปหรืออเมริกา ก็ต้องเรียกแทนตัวนักเขียนว่าเป็น "การ์ตูนนิสต์" ด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างการ์ตูน comic จากต่างประเทศ
แต่ ถ้าเป็นนักอ่านนักเขียนการ์ตูนทางแถวเอเชียเรานี้ ส่วนมากแล้วจะได้อิธิพลมาจาก "ประเทศญี่ปุ่น" ซึ่งชาวญี่ปุ่นจะเรียกการ์ตูนประเภทนี้ว่า "มังงะ" (Manga) และจะเรียกนักเขียนทุกคนว่า "อาจารย์" (Sensei-เซนเซย์)
แต่ไม่ว่าจะเป็น การ์ตูนคอมมิค หรือการ์ตูนมังงะ ซึ่งอาจจะมีลายละเอียดปีกย่อยที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่มันก็ตือ การ์ตูนช่องหลายหน้าจบ เหมือนกันครับ
* แม้ว่าคำว่า "เซนเซย์" ความหมายตรงๆ จะหมายถึงอาจารย์ที่มีหน้าที่สอนหนังสือ แต่คำว่า เซนเซย์ที่ใช้เรียกนักเขียนการ์ตูน ไม่ได้หมายความว่า นักเขียนคนนั้น จะมีหน้าที่สอนหนังสือนะครับ คำว่า เซนเซย์ ที่คนญี่ปุ่นใช้เรียกนักเขียนการ์ตูน ใช้เรียกเพื่อให้เกียรติกับบุคลที่มีความรู้ความสามารถ อย่างเช่น คุณหมอ ก็เรียกเซนเซย์ได้เหมือนกัน อ๋อ..ครูที่สอนหนังสือ ก็เรียกว่า เซนเซย์ เหมือนกันครับ ฯลฯ เป็นต้น
ถ้าอย่างนั้น มีคนๆหนึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นมายืนอยู่ตรงหน้าเรา เรามีข้อมูลว่า เขาเป็น เซนเซย์ เราจะรู้ไหมว่าเขามีอาชีพอะไร? คำตอบ คือ ไม่รู้ครับ คนญี่ปุ่นถ้าเจอเหตุการณ์อย่างนี้ เขาก็ไม่รู้เหมือนกัน เขาจะต้องรู้ก่อนว่าคนๆนั้นมีอาชีพอะไร พอรู้แล้วว่าเป็นอาชีพที่มีความรู้ความสามารถ เขาถึงจะสามารถเรียกคนๆนั้นว่า เซนเซย์ ได้ ยกตัวอย่าง อาจารย์โทริยามา อากิร่า ผู้เขียนการ์ตูนเรื่อง ดราก้อนบอล หากเราไม่รู้มาก่อนว่า เขาเป็นนักเขียนการ์ตูน เราก็จะต้องเรียกเขาว่า คุณโทริยามา อากิร่า แต่หากเรารู้แล้วว่าเขาเป็นนักเขียนการ์ตูน และเราให้เกียรติเขา เราก็สามารถเรียกได้เต็มปากเต็มคำเลยว่า อาจารย์โรริยามา อากิร่า ครับ
ในส่วนของการ์ตูนไทยเรา ส่วนมากแล้วได้รับอิธิพลมาจากการ์ตูนญี่ปุ่น จึงมีลักษณะเหมือน มังงะ มากกว่า แต่นักเขียนของเราไม่ได้ถูกเรียกว่า อาจารย์ หรือ การ์ตูนนิสต์ นะครับ เรียกแค่ "นักเขียนการ์ตูน" ธรรมดา ๆ แล้วชื่อรวมๆ ที่เรียกการ์ตูนสั้นหรือการ์ตูนเรื่องสั้นเรื่องยาวของเราก็มีนะครับ คือเรียวกว่า "นิยายภาพ" เพราะฉะนั้นหากน้องๆ ที่จะส่งงานเขียนเข้าประกวดกับองค์กรใดก็ตามที่เขาจัดงานประกวดขึ้น หากเจอคำว่า นิยายภาพ ไม่ต้องตกใจนะครับ มันคือ การ์ตูนการ์ตูนสั้นหรือการ์ตูนเรื่องสั้นเรื่องยาวนั้นเอง
การประกวดของ เซเว่นบุ๊คอวอร์ด จะเห็นว่า มีการประกวดประเภท "นิยายภาพ" รวมอยู่ด้วย (หัวข้อที่ 3) ซึ่งนั้นก็หมายถึง การ์ตูนเรื่องสั้น หรือ การ์ตูนเรื่องยาว นั้นเอง
** แต่...จริงๆ อีกนั้นแหละ คนไทยเรา มักเรียกรวมๆ งานทุกประเภทว่า "การ์ตูน" ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนแบบไหน ก็จะเรียกว่าการ์ตูนๆๆ จะมีสักคนไหมครับ ที่เวลาไปซื้อ การ์ตูน แล้วบอกกับเจ้าของร้านว่า "พี่ๆ นิยายภาพเรื่องโคนัน เล่ม 5 ออกยัง" หรือ "ขอซื้อนิยายภาพเรื่องดราก้อนบอลเล่มนึงครับ" ไม่มีสักคนครับ ตัวผมเองก็ยังเรียกว่า การ์ตูน เหมือนกันเลยครับ ฮ่าๆๆ ขืนผมไปเรียกแบบนั้น (ทั้งที่มันเป็นคำที่ถูกต้อง) เจ้าของร้านคงมองหน้าผมแล้วหาว่าผมบ้าแน่นอนเลย
อ้าว! อย่างนั้นแสดงว่าเราเรียกผิดซิ ไม่ผิดหรอกครับ คำว่า นิยายภาพ น่าจะเป็นภาษาเขียนนทางวิชาการมากกว่าครับ ส่วนคำว่าการ์ตูน อันนี้เป็นภาษาพูดเลย ใครๆ ก็รู้จัก เหมือนคำว่า "กิน" กับ "รับประทาน" คำว่ารับประทานเป็นภาษาทางวิชาการ ส่วนคำว่ากิน ที่เราพูดกันติดปากก็คือภาษาพูดนะครับ ก็คือใช้ได้ทั้งคู่ แต่ภาษาพูด จะนิยมใช้มากกว่า
ยังมีการ์ตูนอีกประเภทหนึ่งที่อยากจะแนะนำคราวๆตรงนี้ครับ คือ การ์ตูนอนิเมชั่น(Animation)นักอ่านบางคนเรียกการ์ตูนประเภทนี้สั้นๆ ว่า การ์ตูนอนิเมะ การ์ตูนอนิเมชั่น ก็คือการนำเรื่องราวของการ์ตูนไปทำด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เป็นภาพเครื่อนไหว หรือ สรุปสั้นๆ อนิเมชั่นก็คือ การ์ตูนที่มันเคลื่อนไหวได้นั้นแหละ ซึ่งจะทำอย่างไงให้มันเครื่องไหวก็คงต้องไปศึกษากันเอาเองนะครับ ตรงนี้ไม่มีสอน
สัดส่วนของงานเขียน
และเพราะต้องเขียนเรื่องที่มีหลายๆหน้าจบนี้แหละครับ นักเขียนจึงต้องมีเรื่องที่จะเขียนก่อน ถึงจะเขียนได้ โดยหลักๆ แล้ว การ์ตูนเรื่องหนึ่ง จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนของเนื้อเรื่อง และส่วนของลายเส้น ถ้าแบ่งเป็นสัดส่วนกันจริงๆแล้ว ก็น่าจะประมาณ 60-40 หรือ 70-30 โดยจะเน้นที่เนื้อเรื่องเป็นหลัก เช่นเนื้อเรื่อง 60% ลายเส้น 40% หรือเน้นที่เนื้อเรื่อง 70% ลายเส้น 30% เราจะเห็นบ่อยๆ ว่าการ์ตูนบางเรื่อง เส้นไม่ค่อยสวยเลย แต่อ่านสนุกมาก คนติดกันมากมาย แต่บางเรื่อง ลายเส้นสวยมากเลย แต่เนื้อเรื่องหวยมาก คนก็ไม่อยากติดตาม เหมือนเราดูหนังแบบเรื่องนี้ อลังการงานสร้างในทุกๆ ด้าน แต่เนื้อเรื่องไม่สนุกเลย หนังเรื่องนี้ก็มีสิทธิ์ถูกนักดูหนังด่าเหมือนกัน...เช่นเดียวกับการ์ตูนครับ เนื้อเรื่องสนุกมีชัยไปกว่าครึ่ง มีกฏเล็กๆ อยู่อีกข้อครับ สำหรับผู้ที่อยากเป็นนักเขียนการ์ตูนมืออาชีพ คือ
"อย่าเขียนเรื่องที่เราอ่านแล้วเราสนุกอยู่คนเดียว เราต้องเขียนเรื่องให้คนอื่นอ่านแล้วสนุกตามเราไปด้วย"
ใช่ครับถ้าเราเขียนแล้วเราอ่านสนุก ลองให้เพื่อนๆ ข้างๆ อ่านดูบ้าง ถ้าเพื่อนๆ บอกว่า สนุก ก็แสดงว่าคุณแต่งเรื่องได้เข้าขั้นแล้ว แต่ถ้าบอกว่าไม่สนุก ลองถามว่าไม่สนุกตรงไหนแล้วนำมาวิเคราะห์ปรับปรุงดูถ้ามันเป็นจริงอย่างที่เพื่อนว่ามา แต่การที่เราให้เพื่อน 2-3 คนอ่านงานของเราตรงนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะตัดสินเราได้ว่าการ์ตูนเราสนุกหรือไม่สนุกนะครับ นักเขียนการ์ตูนส่วนมากจึงต้อง มโน กันไปก่อนว่า การ์ตูนของตัวเองต้องสนุกแน่ ตูแต่งสุดฤทธิ์แล้ว แต่จะสนุกจริงหรือไม่ เมื่องานของเราถูกกระจายออกไป ผู้ที่ได้อ่านงานของเราอันแท้จริงนั้นแหละ ถึงจะตอบได้ว่า งานของเรา สนุก หรือ ไม่สนุก ครับ
แล้วอย่างนี้จะเขียนเรื่องอะไรดีให้มันสนุก!!..ผมก็ไม่รู้หรอกครับว่าเรื่องแบบไหนสนุก ถ้ายังไม่ได้อ่านงานในจินตนาการของคนเขียนของคนนั้นๆ แต่จากประสบการณ์ก็พอจะแนะนำให้คุณ "เขียนเรื่องให้เป็นเรื่อง" ให้สนุกได้ครับ แต่ต้อง ติดตามตอนต่อไป....
"หากคิดที่จะเป็นนักเขียนการ์ตูนแล้ว ควรหมั่นฝึกฝนในการวาดไว้ให้เยอะๆ หัดใช้จินตนาการแต่งเรื่องให้ได้มากๆ เพราะว่าถ้าคุณไม่ลงมือทำแล้ว สิ่งที่คุณคิดไว้หรือหวังไว้มันจะไม่มีค่า"
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
นอกเรื่อง 0
เพลด : แม่พิมพ์ ที่เอาไว้สำหรับพิมพ์หนังสือ
นอกเรื่อง 1
ถ้าชอบบทความนี้ อย่าลืมกด "ถูกใจ" (รูปหัวใจ) แต่ถ้าติดใจ อย่าลืมกด "ติดตาม" ด้วยนะครับ
นอกเรื่อง 2
ใครยังไม่ได้ไปอ่าน "กว่าจะได้เป็นนักเขียนการ์ตูน" (บทนำ) ก็เข้าไปอ่านได้เลยนะครับตามนี้
http://www.wecomics.in.th/blogs/detail-page/50
ใครยังไม่ได้อ่าน บทที่ 1 เขียนเรื่องให้เป็นเรื่อง ตอนที่ 2 : เขียนเรื่องอะไรดี
http://www.wecomics.in.th/blogs/--1--2/detail-page/149
ข้อมูลจะถูกนำออกทำให้ไม่สามารถอ่านได้อีกน่าเสียดายมากเลย
แน่ใจแล้วหรือที่ต้องการลบข้อมูลออก
หากยืนยันแล้วจะไม่สามารถกู้คืนมาได้อีกนะ!